บำนาญประกันสังคมสูตรใหม่ ม.33 และ ม.39 กลุ่มไหนได้เงินเพิ่ม

บํานาญประกันสังคม มาตรา 33 กับ มาตรา 39 ได้เงินคืนต่างกันเยอะ นำไปสู่เงินบำนาญสูตรใหม่ (CARE) แต่จะคิดยังไง ได้เท่าไหร่ เริ่มปีไหน

สิทธิประกันสังคม ของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 คือจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ เมื่ออายุ 55 ปี และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน แต่กว่าจะถึงจุดนั้นเราต้องส่งเงินสมทบให้ครบ 180 เดือน (15 ปี) โดยนับรวมได้ทั้งช่วงที่เราเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือมาตรา 39

บำนาญประกันสังคมสูตรใหม่ ม.33 และ ม.39 กลุ่มไหนได้เงินเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือ หากออกจากประกันสังคม มาตรา 33 แล้วไปส่งเงินสมทบต่อในประกันสังคม มาตรา 39 จะทำให้บํานาญประกันสังคม ม.39 ที่จะได้รับยามเกษียณอาจหายไปเกินครึ่ง เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน ม.39 ที่เคยส่งเงินสมทบตาม ม.33 มาตลอดหลายปี ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงปรับสูตรบำนาญใหม่ในแบบ CARE (Career-Average Revalued Earnings) หรือเฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ใครจะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้บ้าง มาศึกษารายละเอียดกัน

เช็กบำนาญประกันสังคมสูตรเดิม

 

ตามสูตรบำนาญชราภาพแบบเดิม หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และถ้าใครจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ก็จะได้บำนาญบวกเพิ่มขึ้นไปอีก 1.5% ทุก ๆ 12 เดือน หรือ 1 ปี (เศษของเดือนไม่นับ)

อย่างไรก็ตาม สูตรนี้ทำให้เกิดช่องว่างความแตกต่างระหว่างผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 อย่างเห็นได้ชัด เพราะในการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยผู้ประกันตนมาตรา 33 จะคิดที่ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะคิดที่ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

สมมติว่า เราเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบมา 20 ปี แต่เมื่ออายุ 50 ปี ได้ลาออกจากงานประจำแล้วตัดสินใจสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ส่งเงินสมทบไปอีก 5 ปี (60 เดือน) ดังนั้น ในตอนที่เรามีอายุครบ 55 ปี เราจะได้เงินบำนาญชราภาพที่คิดจ้างค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คือราว ๆ 1,000 กว่าบาท/เดือนเท่านั้น

ในทางกลับกัน หากเราลาออกจากงานแล้วไม่สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เงินบำนาญชราภาพที่ได้รับจะอยู่ที่ 4,125 บาท/เดือน เท่ากับว่าเมื่อสมัครประกันสังคม มาตรา 39 เงินบำนาญที่ควรจะได้รับกลับลดลงไป 60-70%

บำนาญประกันสังคมสูตรใหม่ ม.33 และ ม.39 กลุ่มไหนได้เงินเพิ่ม

บำนาญชราภาพสูตรใหม่ เป็นยังไง

 

ประกันสังคม มาตรา 39 จะได้เงินบำนาญลดลงอย่างมาก จึงเกิดการผลักดันเงินบำนาญชราภาพสูตรใหม่ที่เรียกว่า CARE ขึ้นมา โดยคิดคำนวณเงินชราภาพ ดังนี้

1. ไม่ได้คำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเหมือนเดิม แต่คำนวณจากฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่ส่งจริงตลอดอายุการทำงาน แปลว่า ยิ่งส่งมาก ยิ่งได้มาก

2. นำเงินสมทบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงเกษียณมาคำนวณ ทั้งช่วงที่อยู่ในประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39

3. ปรับค่าเงินในอดีตให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ เช่น ค่าจ้าง 7,000 บาท ในปี 2543 อาจเท่ากับ 15,000 บาท ในปี 2568

4. กรณีส่งเงินสมทบเกิน 15 ปี (180 เดือน) จะได้บำนาญบวกเพิ่มอีก 1.5% ทุก ๆ 12 เดือน โดยสูตรใหม่ให้นับเศษเดือนด้วยเพื่อได้เงินบำนาญบวกเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น

◆ หากส่งเงินสมทบ 25 ปี 6 เดือน ถ้าใช้การคำนวณสูตรเก่าจะคิดเป็น 25 ปี เราจะได้เงินบำนาญ 35% ของค่าจ้างเฉลี่ย (ไม่นับเศษ 6 เดือน) แต่สำหรับบำนาญสูตรใหม่จะนับเศษ 6 เดือน เท่ากับได้รับบำนาญ 35.75% ของค่าจ้างเฉลี่ย

บํานาญประกันสังคม คิดยังไง

 

อย่างที่กล่าวไว้ว่า วิธีคิดบำนาญประกันสังคมสูตรใหม่ไม่ได้คิดแค่ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายแล้ว แต่นำฐานเงินเดือนเฉลี่ยตลอดระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบมาคำนวณ

ตัวอย่าง : ส่งเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 มาแล้ว 15 ปี จากนั้นลาออกและส่งเงินสมทบมาตรา 39 ต่ออีก 5 ปี รวมแล้วส่งเงินสมทบ 20 ปี

วิธีคิดบำนาญ คือ นำฐานเงินเดือนมาตรา 33 (15,000 บาท) มาคูณจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบมาตรา 33 (15 ปี) แล้วบวกกับฐานเงินเดือนมาตรา 39 (4,800 บาท) คูณกับจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบมาตรา 39 (5 ปี) จากนั้นหารด้วยจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบทั้งหมด (20 ปี)

เท่ากับ (15,000*15) + (4,800*5) / 20 = 12,450 บาท

โดยเราจะได้เงินบำนาญร้อยละ 20% ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย (12,450) และบวกเพิ่มอีก 1.5% ในทุกปีที่ส่งเงินสมทบเกิน 15 ปี ดังนั้น เมื่อเราส่งเงินสมทบ 20 ปี จึงได้รับบำนาญในอัตรา [20+(1.5*5)] =27.5% จากเงิน 12,450 บาท เท่ากับได้รับบำนาญเดือนละ 3,423.75 บาท

แต่หากใช้การคำนวณแบบสูตรเดิม จะได้รับบำนาญเพียงเดือนละ 1,320 บาทเท่านั้น

บำนาญประกันสังคมสูตรใหม่ ม.33 และ ม.39 กลุ่มไหนได้เงินเพิ่ม